Turkey II

ตุรกี Agva => Karasu

หลังจากที่เก็บเต้นท์ เรากลับเข้าสู่เส้นทางไปเมืองต่อไปคือคานดิรา (Kandira) วันนี้เราพยายามตื่นเช้าหน่อย แต่กว่าจะล้อหมุนตะวันสายโด่งอีกอยู่ดี เราคิดไม่ถึงว่าเขาสูง ๆ ต่ำ ๆ จากเมืองนี้อาวา (Agva จี ในภาษาตุรกี ออกเสียงเหมือน ”อ”) เพราะแค่จากจุดกางเต้นท์ที่เราไหลลงมาจากเนินเขา และหลังจากนั้นก็ขึ้น ๆ ลง ๆ จริง ขึ้น ๆ ลง ๆ ไม่มีทางเรียบตรงไหนเลย มิน่าเขาถึงไม่ค่อยปั่นจักรยานกัน แต่เราได้กำลังใจจากผู้คนทั้งบนท้องถนนและคนขับรถ คนที่นี่เขาอัธยาศัยดีมาก บางครั้งโบกมือไม่ทันแค่ผงกหัวโค้งให้เขาก็ตอบกลับด้วยรอยยิ้มหรือไม่ก็ทักทายเราก่อนเสียอีก อากาศเริ่มร้อนเหมือนเมืองไทย สักประมาณบ่ายโมง เริ่มทรมาน เฮ้อ..หนาวก็บ่นร้อนก็บ่นเนอะ คนเรา 😉 ช่วงนี้เราแวะเข้าปั้ม ไม่ได้ไปขอไออุ่นแต่ขอหลบแดด ที่ตุรกีนี่เขามักจะล๊อคอินเตอร์เนตคือต้องใส่รหัส เราก็ต้องไปถามและบางทีเด็กปั้มไม่รู้บ้างจำรหัสไม่ได้บ้าง ถ้าไม่มีเน๊ตเราก็ไม่อยู่นาน 🙂

ทางคดเคี้ยวไปเรื่อย เส้นทางเล็ก ๆ แต่รถบรรทุกค่อนข้างเยอะ แต่ไม่มากมาคันสองคันแล้วก็หายไปนาน อาจจะเป็นเพราะใกล้ ๆ นั้นเขามีโรงงานผลิตท่อแก๊ซ ใหญ่มาก รถบรรทุกคันหนึ่งสามารถบรรทุกได้อันเดียวเท่านั้น ส่วนใหญ่เราจะได้แรงเชียร์จากพี่รถใหญ่นี่แหละ น่ารักมาก ปั่น ๆ ไปเห็นเต่าค่อย ๆ ต้วมเตี้ยมขึ้นมาจากถนน แถวนั้นรถไม่ค่อยเยอะ แต่เรากลัวว่ามันจะไปไม่ทันฝั่งตรงข้ามก็จะแบนเสียก่อน ก็เลยคิดแทนมันและส่งมันไปอีกฝั่งหนึ่ง แต่ดู ๆ แล้วอีกฝั่งหนึ่งไม่เห็นมีน้ำเหมือนฝั่งตรงข้ามที่มันข้ามมา เลยส่งมันกลับไปที่เดิม สาธุ !!! ขอให้มันไปได้ตลอดรอดฝั่งด้วยเถิด

สาธุ!!! ขอให้เต่าน้อยปลอดภัยตลอดรอดฝั่งเถิด

สาธุ!!! ขอให้เต่าน้อยปลอดภัยตลอดรอดฝั่งเถิด

พอส่งเจ้าเต่ากลับข้างถนนเสร็จ เราก็กลับไปเล่นรถไฟเหาะต่อ ดีที่ไม่ได้ตีลังกาด้วย บางทีรู้สึกไม่อยากไหลลงเลย เพราะรู้ว่าพอลงสุด ๆ แล้ว มันจะขึ้นทันที แล้วก็เป็นอย่างนั้นจริง ๆ บริเวณนี้มีหมู่บ้านอยู่กันถี่ ๆ อ่านจากสายตาเขานะ คิดว่าเขาคงจะทึ่งเรา (เข้าข้างตัวเองไว้ก่อน 😉 เมื่อคืนเรานอนเต้นท์ก็เลยไม่สามารถชาร์ตอะไรได้สักอย่าง ช่วงนี้ที่ปั่นในตุรกี เราแวะปั้มเข้าห้องน้ำ เพราะดื่มน้ำเยอะและชาที่พวกเขาตั้งใจมาเสริฟให้ แต่ถ้าคืนไหนนอนเต้นท์ก็ต้องอาศัยปั้มขอชาร์ตแบตฯด้วย ส่วนใหญ่เราเลือกชาร์ตจีพีเอส เพราะสำคัญกว่าอุปกรณ์อื่น ๆ

มีหนุ่มน้อยมาชงกาแฟให้ดื่มด้วย

มีหนุ่มน้อยมาชงกาแฟให้ดื่มด้วย

กาน้ำชาอยู่ด้านบน ส่วนก๊อกข้างล่างเป็นน้ำเดือด เขาใส่น้ำชาครึ่งหนึ่งลงในแก้วแล้วผสมน้ำร้อนอีกครึ่งหนึ่ง

กาน้ำชาอยู่ด้านบน ส่วนก๊อกข้างล่างเป็นน้ำเดือด เขาใส่น้ำชาครึ่งหนึ่งลงในแก้วแล้วผสมน้ำร้อนอีกครึ่งหนึ่ง

ที่ปั้มนี้ เราเข้าไปถามว่าเขามีกาแฟมั้ย เขาบอกมี พอเราถามว่าเท่าไหร่ คำตอบคือ ”ไม่เป็นไร” ขนาดสั่งเอากาแฟยังไม่ต้องจ่ายเงินเลย ความใจดีของเขาคงไม่มีขีดจำกัดนะเนี่ย เห็นในร้านเขาดูโทรม ๆ เลยคิดว่าห้องน้ำคงจะดูแย่แน่นอน แต่เราจำเป็นต้องเข้า แต่พอเข้าไปกลับดูดีกว่าที่คิดยังกะอยู่คนละปั้มกันเลย ห้องน้ำที่ตุรกีเป็นแบบนั่งยอง ๆ เหมือนบ้านเรา ส่วนใหญ่ห้องน้ำผู้ชายจะเป็นแบบยอง ๆ ห้องน้ำผู้หญิงมีให้เลือกทั้งนั่งโถและยอง ๆ มีครั้งหนึ่งโจคิมเห็นว่าไม่มีผู้หญิงที่ปั้ม เดินเข้าไปใช้ห้องน้ำหญิงเฉยเลย 🙂

ปั่นต่อค่ะปั่นต่อ จอดนานเดี๋ยวเครื่องดับ วันนี้ออกเช้าหน่อยเลยทำระยะทางได้ดีกว่าวันแรก ๆ ที่ออกจากอิสตันบูล พักที่อิสตันบูลนานไปหน่อย กิจวัตรที่เคยทำเป็นประจำเลยเลอะเลือน 😉 คือถ้าเรานอนเต้นท์ส่วนใหญ่เราจะหาซื้ออาหารเช้าเช่น ขนมปัง, โยเกิร์ตและของสดเพื่อทำกินที่เต้นท์ และช่วงกลางวันเรากินได้ไม่มาก กินเยอะก็ง่วงและคงจุกด้วยถ้าไม่ได้พักสักหน่อย

อาหารกลางวันเบา ๆ จานนี้เรียกว่า กืซเลอเม่ Gözelme คือขนมปังแผ่นบาง ๆ ใส่ไส้มันฝรั่งหรือชีส

อาหารกลางวันเบา ๆ จานนี้เรียกว่า กืซเลอเม่ Gözelme คือขนมปังแผ่นบาง ๆ ใส่ไส้มันฝรั่งหรือชีส

อาหารเย็นที่ทำกันเอง สีสรรใช้ได้นะ

อาหารเย็นที่ทำกันเอง สีสรรใช้ได้นะ

พนักงานที่ร้านที่เมืองคานดิร่า ตอนพักเที่ยง คนข้างหลังเขาสนใจจักรยานมาก เดินออกไปดูหลายเที่ยว

พนักงานที่ร้านที่เมืองคานดิร่า ตอนพักเที่ยง คนข้างหลังเขาสนใจจักรยานมาก เดินออกไปดูหลายเที่ยว

หลังจากกินเที่ยงแบบเรียบง่าย พนักงานที่ร้านเข้ามาคุยด้วย สนใจว่าเรากำลังจะไปไหนต่อ พอเราบอกว่าจะปั่นไปกรุงเทพฯ เขาคงทึ่งเราอีกตามเคย 😉 พอออกจากร้านมาตรงจัตุรัสกลางเมืองเขา เห็นว่ามีก๊อกน้ำอยู่ เลยเข้าไปล้างหน้าและขยี้ถุงแขน ถุงมือ หมวก และทำให้มันเปียกแฉะ ๆ เพื่อคลายร้อน ใช้ได้ทีเดียว แต่ความร้อนช่วงกลางวันทำให้มันแห้งเร็วมาก อ้อ..มีอีกกิจกรรมหนึ่งที่ต้องทำที่ปั้มถ้านอนเต้นท์คือพกยาสระผมไปด้วย เข้าปั้มแล้วขอสระผมหน่อยที่ก๊อกน้ำแหละค่ะ

ตุรกี => จาก Karasu ไป Alapli

ไอค๊อกไอแค๊กอีกแล้ว เมื่อวานไม่น่าไปล้างหน้าสระผมที่ปั้มเลย นั่งพักคลายร้อนนานพอสมควรแล้วคิดว่าอุณหภูมิในร่างกายปรับได้แล้ว แต่ไม่เลย เช้านี้มารู้สึกเหมือนจะเป็นหวัด ปวดหัวนิด ๆ เมืองถัดไปตั้งใจว่าจะพักกันสักวันสองวันที่บ้านพ่อแม่ของเพื่อนที่เคยไปพักด้วยที่อิสตันบูล ไป ๆ มา ๆ สนิทกับพ่อแม่ของเขามากกว่า 🙂 หวังว่าระหว่างทางไม่น๊อคไปเสียก่อน เพราะเท่าที่เช๊คกราฟระดับความสูงใน bikeroutetoaster.com (เวบต์นี้เพื่อน ๆ นักปั่นน่าจะลองใช้นะค่ะ) จะเห็นว่าชันคิดว่า 5% ช่วงประมาณ 10 กว่ากม. แล้วจะเข้ามารายงานความคืบหน้าว่ารอดมาได้อย่างไร 😉 สองวันนี้เขาทั้งนั้น ปั่นกันจนปวดหลัง เวลาปั่นเหมือนเราจะใช้กำลังที่ขา แต่บางครั้งลืม เกร็งเกินไป แต่พอตั้งสติได้ก็ใช้ระบบดึงกด ทำให้รู้สึกผ่อนคลายนะค่ะ เหมือนทำสมาธิท่องในใจ ดึงกด ดึงกด น่องไม่ใหญ่ด้วย 🙂

ที่พักตุรกีค่อนข้างแพงนิดหน่อย เวลาเราออกทัวร์ไกล ๆ นาน ๆ แบบนี้ก็ไม่อยากใช้จ่ายสุรุ่ยสุร่าย สู้เก็บเงินไว้กินอาหารของเขาดีกว่า ลำบากตรงที่เราอาจจะทำความสะอาดร่างกายได้ไม่สะดวก ที่เราคิด ๆ กันไว้คือ ถ้าเราจะกางเต้นท์ จะแวะเข้าปั้มชำระร่างกายส่วนใหญ่ก่อน และพกน้ำ เราสามารถพกน้ำได้อย่างมาก 10 ลิตร เมื่อคืนรีบทำอาหาร รีบกินและรีบกางเต้นท์ เพราะหนึ่งเริ่มมืด สองโดนยุงรุมกินโต๊ะ ตัวใหญ่มาก กัดทะลุกางเกง ถุงมือ เลยต้องงัดเอาเสื้อแจ๊กเกตออกมาใส่ สวมฮู้ดด้วย เฮ้อ…

จุดกางเต้นท์เมื่อคืน ยุงเยอะและตัวใหญ่มากด้วย

จุดกางเต้นท์เมื่อคืน ยุงเยอะและตัวใหญ่มากด้วย

2 วันมานี่เราซื้อมะเขือเทศ 2 ลูก หัวหอม 1 ลูก = 1.50 TL (เงินตุรกี=ลีล่า) รู้สึกว่ามันแพงหน่อย จุดที่เรากางเต้นท์ห่างจากตัวเมืองประมาณ 7-8 กม. ถ้าใกล้เมืองเกินไปอาจจะเป็นจุดสนใจ เมื่อวานเราเลยตัดสินใจว่าเก็บเต้นท์แล้วปั่นไปหาอาหารเช้ากินระหว่างทางดีกว่า ประหยัดเวลาด้วย เพราะถ้าเราออกสาย อากาศก็ยิ่งร้อนขึ้น จะลองออกเช้า ๆ แล้วพักกลางวันนานหน่อยน่าจะดีกว่า ปั่นเข้ามาใกล้ ๆ เมืองก็เห็นร้านทำขนมปังมีเตาอบอันเบ้อเริ่ม เราซื้อขนมปัง 1 ก้อนยังอุ่น ๆ อยู่เลย แต่กินแค่ขนมปังคงจะแห้งน่าดู มีอีกร้านใกล้ ๆ กันเป็นร้านขายของชำ เลยซื้อชี้สและถามว่าเขามีกาแฟมั้ย คำตอบ ”มี” ยังอุตส่าห์ถามด้วยนะว่ากาแฟใส่นมหรือน้ำตาลมั้ย พอเราจะจ่ายเงินค่าอาหาร เขากลับคิดแค่ชี้สและน้ำส้ม และขอเลี้ยงกาแฟเรา ประทับใจความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ของคนตุรกีจริง ๆ

คนทำขนมปังและเตาอบของเขา

คนทำขนมปังและเตาอบของเขา

อาหารเช้า

อาหารเช้า

อยู่่ตุรกีนี่เราแวะปั้มเพื่อหลบร้อน ต่างจากตอนที่ปั่นที่ประเทศแรก ๆ ที่ต้องแสวงหาฮีตเตอร์ วันนี้เราแวะปั้ม หยุดที่ปั้มนี้ค่อนข้างนาน เพราะต้องการใช้อินเตอร์เน๊ตอัพโหลดรูปและบล๊อค ก่อนอื่นเราซื้อไอศครีม 2 แท่งแล้วเราก็ผลัดกันใช้คอมฯ อัพเดทบล๊อคของตัวเอง สักพักก็ซื้อสไปรท์ขวด 2 ลิตรเพราะมันเข้ากับที่ใส่ขวดน้ำใบใหญ่ของโจคิม และก่อนจะปั่นต่อก็ซื้อช๊อคโกแลต 2 แท่ง เขาคงไม่ว่าอะไรถ้าเราไม่ซื้อแต่เรารู้สึกเกรงใจเขา

วันนี้ถนนหนทางดีมากทั้งเรียบและราบ เป็นถนนเลียบทะเลดำ มีขึ้น ๆ ลง ๆ ไม่มากนัก เห็นบ้านตามชนบทหลายหลังติดตั้งโซล่าเซลล์ใช้พลังงานแสงอาทิตย์อุ่นน้ำไว้ใช้ในห้องน้ำห้องครัวเพื่อลดค่าใช้จ่าย เขาว่าค่าไฟที่นี่แพงอยู่เหมือนกัน

แผ่นสะสมพลังงานแสงอาทิตย์.

แผ่นสะสมพลังงานแสงอาทิตย์

วันนี้อากาศค่อนข้างดี น้ำทะเลน่าจะไม่เย็นเท่าไหร่ ไหน ๆ มาถึงทะเลดำแล้วก็เลยลองลงไปลุยน้ำนิดนึง อึ๋ย..เย็นเหมือนกัน จ้างให้ลงไปเล่นก็ไม่เอาหรอก แต่อยากชิมหน่อยว่าเค็มมากน้อยแค่ไหน อืม..เค็มนะแต่ไม่มาก

ลองเอาเท้าจุ่มน้ำในทะเลดำ

ลองเอาเท้าจุ่มน้ำในทะเลดำ

และจักรยานบนชายหาดของทะเลดำ ก่อนหน้านั้นเคยถ่ายกับทะเลบอลติคและทะเลมาร์มาร่า ถัดไปคงได้ถ่ายกับทะเลแคสเปี้ยน

บนชายหาดทะเลดำ

บนชายหาดทะเลดำ

เมืองเลียบทะเลดำส่วนใหญ่จะเป็นเมืองท่องเที่ยว เรานั่งพักกินอาหารเที่ยงกันเป็นขนมปังปิ้งใส่ไส้แฮมกับชี้ส นั่งข้างนอกสามารถมองเห็นทะเลดำ ลมพัดมาเอื่อย ๆ ทำให้ง่วงนอนจริง ๆ ที่จริงเราวางแผนจะแคมปิ้งคืนนี้ด้วย แต่ดูแล้วคงเป็นไปไม่ได้ เพราะฝั่งหนึ่งเป็นทะเล อีกฝั่งหนึ่งเป็นเขาชัน และด้วยเหตุนี้เองตอนเช้าถึงสายจึงมีหมอกลงจัด เย็นนิดหน่อย มีถนนช่วงนี้แหละที่เรียบไปกับทะเลดำ ได้ปั่นชมวิวกันบ้างและเพื่อให้ถนนราบเลียบไปกับทะเลดำ เขาต้องสร้างอุโมงค์ ปั่นในอุโมงค์น่ากลัวนิดหน่อย เพราะหนึ่งเสียงมันกระฮึ่มมากเวลามีรถวิ่งผ่านไป สองมืดมัว สามถ้าเป็นทางโค้งรถจะมองเห็นเราได้ยาก สี่ไม่มีไหล่ทาง เราก็เลยต้องเปิดไฟท้าย อย่างน้อยเตือนคนขับรถหน่อยก็ยังดี วันนี้ปั่นเข้าอุโมงค์ท่าทางจะ 10 แห่งได้มั้ง

พอพ้นออกมาจากอุโมงค์เราก็ปั่นชมวิวกันต่อจนกระทั่งมาถึงเมืองอาลัปลึ (Alapli เมืองนี้สะกดด้วยตัว i ที่ไม่มีจุดข้างบนและออกเสียง i แต่ไม่มีจุดข้างบนนี้เป็นสระอึ) ที่จริงเรามีเวลาพอที่จะปั่นไปเมืองถัดจากอาลัปลึ ซึ่งห่างออกไปอีกประมาณ 10 กม. แต่เราคิดว่าเมืองนี้เล็กกว่าและท่าทางน่าอยู่กว่า และอีกอย่างคือเราไม่อยากเริ่มต้นการเดินทางด้วยการปั่นขึ้นเขาในทันที

ถนนราบเรียบที่ไม่ค่อยเห็นที่ตุรกีนักคือถนนทางไปเมืองอาลัปลี

ถนนราบเรียบที่ไม่ค่อยเห็นที่ตุรกีนักคือถนนทางไปเมืองอาลัปลี

คอกลับมาเจ็บอีกครั้งหนึ่ง เลยตัดสินใจมองหาที่พัก แต่หามีไม่ หันไปเห็นตำรวจยืนคุยกันหน้าสถานี เลยปั่นเข้าไปถาม คุยกันไม่รู้เรื่อง เขาไม่สามารถอธิบายบอกทางให้กับเราได้ ตำรวจสองนายเลยทำสัญญาณให้เราปั่นตามรถตำรวจไป เปิดไฟหวอสีฟ้าด้วยอ่ะ ตื่นเต้นมีรถตำรวจนำ 😉 แต่พ่อเจ้าประคุณขับเสียเร็ว เกือบตามไม่ทัน ถึงตรงทางแยกตำรวจจอดรถและชี้ให้ดูว่าโรงแรมอยู่ตรงไหน เขาขอดูพาสปอร์ตเรา คิดว่าเขาคงอยากเห็นพาสปอร์ตสวีเดนมากกว่ามั้งว่าหน้าตาเป็นงัย

ตำรวจนำทางและขอดูพาสปอร์ต

ตำรวจนำทางและขอดูพาสปอร์ต

พอมาถึงหน้าโรงแรม เห็นสามดาว เตรียมใจไว้ก่อนว่าน่าจะแพง แต่โจคิมคิดว่าเราน่าจะลองต่อราคาดูเพราะเราเริ่มคุยกันกับหนุ่มน้อยคนหนึ่ง (มารู้ทีหลังว่าเป็นลูกเจ้าของโรงแรม) และพนักงานต้อนรับที่ดูเป็นกันเอง ราคาห้องจริง ๆ 90 ลีล่า รวมอาหารเช้า เราพยายามต่อเหลือ 80 แต่ต่อไปต่อมาจนกลายเป็น 90 ลีล่ารวมอาหารเย็นและเช้าเลย

มื้อเย็นที่เราสามารถต่อให้รวมอยู่ในราคาห้อง ;-)

มื้อเย็นที่เราสามารถต่อให้รวมอยู่ในราคาห้อง 😉

ที่จริงเราต่อสนุก ๆ ได้ก็ดี พอต่อได้แล้วถึงได้รู้ว่าเมืองนี้มีโรงแรมที่นี่แห่งเดียวเท่านั้น เอ่อ..ดีนะที่มันไม่แพงมากไปกว่า 90 ลีลา พอเราเอาสัมภาระขึ้นไปบนห้อง เราสามารถเห็นวิวของทะเลดำจากหน้าต่างห้องเราเลย

Black Sea sunset seen from the window in our hotel room

Black Sea sunset seen from the window in our hotel room

ตุรกี => จาก Alapli ไป Zonguldak

วันนี้เราคาดว่าจะปั่นไปถึงเมืองซอนกูลดัค (Zonguldak) เพราะ “บูรัค” เพื่อนที่เราเคยไปพักที่บ้านที่อิสตันบูล เขาชวนเราให้ไปเมืองบ้านเกิดของเขา บูรัคอยู่กับยายและเรียนอยู่มหาลัยที่อิสตันบูล พ่อและแม่เลยเดินทางไป ๆ มา ๆ ระหว่างอิสตันบูลกับซอนกูลดัค

เวลาเราพักที่โรงแรมส่วนใหญ่จะรวมอาหารเช้า ซึ่งดูน่ากินไปหมดไม่ว่าจะแยมหรือชี้ส ขนมปังอุ่น ๆ เลยรับประทานเข้าไปเสียเยอะ เลยต้องรอให้มันย่อยนานหน่อย กว่าล้อจะหมุนเกือบ 10 โมง ช่วงแรกทางยังเรียบไปถึงอีกเมืองหนึ่งใกล้ ๆ ชื่อ เอเรียลิ  เรามารู้ทีหลังจากเพื่อนอีกทีว่าเป็นเมืองที่ขึ้นชื่อเรื่องสตอร์เบอรี่เพราะปลูกและส่งทั่วตุรกีและยังมีอุตสาหกรรมเหล็ก ตอนเราปั่นผ่านวงเวียน เราเห็นสัญญลักษณ์ตรงกลางเป็นรูปสตอร์เบอรี่ทำด้วยเหล็ก และเพราะเป็นเมืองอุตสาหกรรม ทำให้มีรถบรรทุกมากมาย ตื่นเต้นอีกแล้วกับจราจร แฮ่… แต่พอพ้นจากเขตอุตสาหกรรมและออกนอกเมืองนี่ก็เจอเนินทันที หมอกเริ่มหนาขึ้น เพราะเป็นทางที่ด้านหนึ่งเป็นทะเลดำและอีกด้านเป็นภูเขาทำให้รู้สึกเย็นนิด ๆ แต่พอเริ่มปั่นไต่ขึ้นเรื่อย ๆ ไม่รู้สึกเย็นอีกต่อไป 😉 จากที่เช๊คในเน็ตเห็นว่าทางจะลาดขึ้นประมาณ 5% ระยะทาง 10 กม.กว่า ๆ เอาเรื่องเหมือนกัน ปั่นจนก้นชามือชาไปหมด โจคิมขาไม่แตะพื้นเลย แต่เวชแตะสองครั้ง 😉

เขาที่เราต้องข้ามไปหาอืซเลมและวอลคั่น

เขาที่เราต้องข้ามไปหาอืซเลมและวอลคั่น

ระหว่างทางเห็นเขาวางขายสตอร์เบอรี่หลายร้านเลย ล่อตาล่อใจมาก พอมาถึงจุดสูงสุดของเขาลูกนั้นเลยต้องขอชิมสักหน่อย อืม…ชื่นใจ

ขอชิมหน่อย

ขอชิมหน่อย

ตอนขาลงไม่สามารถปล่อยลงได้เร็วนัก เพราะพื้นถนนขรุขระอยู่ระหว่างซ่อมแซม พอมาถึงจุด ๆ หนึ่ง เห็นรถบรรทุกจอดขวางอยู่มีตำรวจยืนอยู่ที่นั่นและทำสัญญาณให้เราจอด สอบถามนายตำรวจคนนั้น เขาว่าจะมีการระเบิดภูเขาเพื่อทำอุโมงค์ ให้รอประมาณ 15-20 นาที เฮ้อ..นี่ถ้าเรามาก่อนสัก 5 นาทีคงได้ปั่นสบาย ๆ โดยที่ไม่มีรถมากวนใจข้างหลังเรา เพราะอีกสักพักก็มีรถมาจอดข้างหลังเรายาวเป็นกม.ได้มั้ง ตำรวจคนนั้นก็น่ารัก ยืนเป็นเพื่อนเราชวนคุยจนกระทั่งมีเสียงระเบิดเบิ้มดังสะท้อนกับภูเขา ควันโขมงเลย และอีกสักพัก เขาก็ปล่อยให้รถขับผ่านได้ เราอยู่ข้างหน้าสุดเลยคิดว่าให้รถพวกนั้นขับไปก่อน พอไปกันหมดแล้ว เราก็เตรียมตัวที่จะปั่นต่อ แปรากฎว่าล้อหน้าโจคิมแบน!! นี่ถ้ารู้ว่ามันแบนตั้งแต่ต้น คงได้นั่งซ่อมไปด้วยรอเขาระเบิดไปด้วย

รอให้เขาระเบิดและกวาดเอาเศษหินออกจากถนนก่อน

รอให้เขาระเบิดและกวาดเอาเศษหินออกจากถนนก่อน

แบนครั้งที่สองคราวนี้ล้อหน้า ;-)

แบนครั้งที่สองคราวนี้ล้อหน้า 😉

แต่ในที่สุด ซ่อมเสร็จเราก็สามารถปล่อยไหลเข้าเมืองได้ ตอนพักที่อิสตันบูลเราได้พบแม่ของบูรัค “อืซเลม” ที่มาเยี่ยมลูกชายและยาย เราได้ทำความรู้จักกันและสนิทสนมกันอย่างรวดเร็ว เหมือนรู้จักกันมานาน เราเลยตัดสินใจที่จะติดต่อกับอืซเลม เพื่อดูว่าเขาอยู่และสะดวกที่จะรับเราหรือไม่ และเราได้คำตอบว่าอยู่ที่ไหนให้โทรมาเดี๋ยวจะออกไปรับเลย 😉 และนัดเจอกับอืซเลมกับวอลคั่น (สามีของอืซเลม) เพื่อนของพวกเขาเห็นเราตอนอยู่ที่ปั้มนำ้มันเพื่อหาอินเตอร์เนตติดต่ออืซเลม แต่ไม่มีปั้มไหนมี เลยต้องส่ง sms พอเราได้เจอและทักทายกันแล้ว วอลคั่นบอกให้เราเอากระเป๋าและจักรยานขึ้นรถ เพราะบ้านเขาห่างจากตรงนั้นไม่ไกลแต่ต้องปั่นขึ้นเนินที่ชันมาก ๆ และมันชันจริง ๆ ขนาดนั่งอยู่บนรถยังมีความรู้สึกว่า ”ยังไม่ถึงอีกหรือ?” ทั้งโค้งทั้งชัน พอมาถึงบ้านพักเรามองเห็นจุดที่เรานัดเจอกันในเมือง ซึ่งจากข้างล่างมันเป็นห้างฯที่ใหญ่มาก แต่จากระเบียงบ้านอืซเลมและวอลคั่นมันกลายเป็นห้างฯขนาดจิ๋วไปทันที ใช่..ในที่สุดเราก็มาถึงบ้านและรู้สึกได้ถึงการต้อนรับอย่างอบอุ่นเป็นกันเองสุด ๆ

วิวจากระเบียงบ้านและจุดนัดพบไกล ๆ โน่น สูงมาก

วิวจากระเบียงบ้านและจุดนัดพบไกล ๆ โน่น สูงมาก

อืซเลมเตรียมอาหารมื้อเย็นด้วยแกะอบ สลัด และอีกหลาย ๆ อย่่่างที่อร่อยมาก

อาหารฝีมืออืซเลม

อาหารฝีมืออืซเลม

ช่วงเวลาพักผ่อนที่ซอนกูลดัค, ประเทศตุรกี

วันที่เรามาถึงบ้านเพื่อน แค่เย็นวันนั้นเท่านั้นเองที่อากาศดี หลังจากนั้นหมอกลงทุกวัน มองไม่เห็นทะเลดำ มันกลายเป็นทะเลขาวเพราะหมอกลงหนามาก วันรุ่งขึ้นเป็นวันเกิดของอืซเลม เราออกไปกินข้าวกันกับแม่ของวอลคั่น น้องสะใภ้และลูกสาวของเขาที่ห้างที่ใหญ่ที่สุดของเมืองนี้ พอเดินเข้าไปแล้วให้รู้สึกเหมือนเดินในห้างที่เมืองไทยเลย

ออกไปกินข้าวกันที่ห้าง

ออกไปกินข้าวกันที่ห้าง

ที่ชายหาดทะเลดำกับอืซเลมและลูกสาวของน้องชายวอลคั่น

ที่ชายหาดทะเลดำกับอืซเลมและลูกสาวของน้องชายวอลคั่น

กลับมาบ้านทำอหารเย็นเลี้ยงวันเกิดอืซเลม มีเพื่อน ๆ ของเขามาด้วย ฟังเขาไม่รู้เรื่อง แต่ดูท่าทางแล้วน่าสนุก แค่ได้ยินก็สนุกไปด้วย และในเย็นวันนั้นเอง มีน้าของอืซเลมมาด้วย เขาสนใจและอยากรู้ว่าเราจะไปทางไหนต่อ พอเล่าให้เขาฟัง เขาก็บอกว่าสามีเขามีญาติอยู่ที่เมืองโฮปาอยู่ติดชายแดนระหว่างตุรกีและจอร์เจีย ยังไม่ทันตอบตกลง เธอกดโทรศัพท์ไปหาญาติคนนั้นทันที คุยกันยาว เดากันว่าเขาคงคุยเรื่องเรา พอวางหูไป เขาบอกว่าญาติเขายินดีต้อนรับทุกเมื่อ มาเมื่อไหร่โทรบอก เขาน่ารักและอบอุ่นกันมาก

อาหารมื้อเย็นในวันเกิดของอืซเลม

อาหารมื้อเย็นในวันเกิดของอืซเลม

เค้กวันเกิดที่วอลคั่นไปแอบซื้อมา

เค้กวันเกิดที่วอลคั่นไปแอบซื้อมา

กาแฟสไตล์ตุรกี ต้องมีฟองนำหน้า โจคิมหัดทำกับอืซเลม

กาแฟสไตล์ตุรกี ต้องมีฟองนำหน้า โจคิมหัดทำกับอืซเลม

แก้งส์ร่วมมื้อเย็นวันเกิดอืซเลม

แก้งส์ร่วมมื้อเย็นวันเกิดอืซเลม

วันถัดมาพวกเขาพาเราไปเดินเล่นชมวิวบนเขาที่มีประภาคารเก่าสมัยโบราณ

วันถัดมาพวกเขาพาเราไปเดินเล่นชมวิวบนเขาที่มีประภาคารเก่าสมัยโบราณ

กาแฟเสริฟพร้อมขนม Turkisk delight อย่างหรู

กาแฟเสริฟพร้อมขนม Turkisk delight อย่างหรู

เราตั้งใจว่าพอมาถึงเมืองนี้จะจัดแพ๊คกระเป๋าใหม่และเลือกของ, เสื้อผ้า และเครื่องมือบางส่วนที่ไม่ใช้หรือไม่จำเป็นกลับไปสวีเดน แต่ในกล่องที่ส่งไปนั้นมีกล้องอันเล็กตัวหนึ่ง ที่อยู่ ๆ มันก็ไม่ยอมทำงาน เลยส่งกลับบ้านเสียเลย จะทิ้งก็เสียดาย เดี๋ยวลองหาทางช่วยชุบชีวิตอีกสักครั้งหนึ่ง รวบรวมได้ 3 กก.กว่า ๆ เพราะเราคงแคมปิ้งบ่อยขึ้น ต้องมีที่ว่างสำหรับตุนอาหารบ้าง ดีที่วอลคั่นช่วยพาเราไปไปรษณีย์ไม่อย่างนั้นคงคุยกันไม่รู้เรื่อง หรือไม่ก็คงไม่ได้ส่ง เขาจัดการของเขาคนเดียว คุยกับพนักงานแล้วก็วิ่งออกไป ก็ไม่รู้ว่าเขาวิ่งไปไหน แป๊บนึงกลับมามีกล่องติดมือมา พอจะกรอกที่อยู่ ก็ยกให้วอลคั่นใส่ที่อยู่ของเขาที่ตุรกีนี่ รู้สึกลนลานมาก

ต่อจากไปรษณีย์ก็ส่งโจคิมไปตัดผม เสียดายไม่ได้เอากล้องไปด้วย เพราะรีบไปไปรษณีย์กัน ช่างจัดการตัดผม โกนหนวด ตัดขนคิ้วเรียบร้อย ช่างหยิบกรรไกรออกมาจากเก๊ะ จุ่มอัลกอฮอล์แล้วจุดไฟแล้วแหย่เข้าไปในช่องหูเพื่อเผาขนเส้นเล็ก ๆ โจคิมได้กลิ่นไหม้ ๆ ด้วย ประสบการณ์ใหม่ 😉

มื้อเย็นมื้อสุดท้าย เพราะพรุ่งนี้เราจะออกเดินทางต่อ อืซเลมทำอาหารไว้เยอะมาก เพราะจะมีเพื่อนมาร่วมวงด้วย คือฟัทม่าและเลเวนท์ สองสามีภรรยา วอลคั่นและเลเวนท์ชอบดนตรีพื้นเมือง วอลคั่นเป็นทั้งนักร้องและมือกลอง ส่วนเลเวนท์เล่นเครื่องดนตรีเรียกว่า อุ๊ด (ud) และเป็นครูสอนดนตรีชนิดนี้ด้วย

เลเวนท์กับเครื่องดนตรีของเขา

เลเวนท์กับเครื่องดนตรีของเขา

แล้วเราก็ได้ชมการแสดงสดของสองคนนี้ที่ห้องครัวของอืซเลมและวอลคั่นนั่นเอง โชคดีของเราจริง ๆ
เมื่อพบกันก็ต้องมีวันลา และก็ถึงคราที่เราต้องก้าวออกจากความสะดวกสบาย ไปเผชิญกับสิ่งแปลกใหม่ประสบการณ์ใหม่ ๆ ที่ไม่สามารถหาได้ถ้าเราอยู่กับที่ เพราะฉนั้นอย่านิ่งเฉยกันนะค่ะ ออกไปแสวงหากัน