บล๊อคนี้อาจจะยาวหน่อย เพราะสะสมมาหลายวัน (อีกแล้ว) ขอสรุปตั้งแต่ปั่นออกจากซาร์มาคันผ่านทางสวยเข้าจิสสัค Jizzakh – ปั่นหลงไปยางกิเยอ Yangiyer – เข้าเขตอุตสาหกรรมที่โอมาลึค Olmaliq – ผ่านเข้าไปเขตเฟอร์กานา วัลเล่ Fergana Valley เข้าเมืองโคคัน Kokand – อันเกรียน Angren และอดิจอน Adijon ที่มีภูเขาล้อมรอบ
เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม เราได้ประทับตราออกจากประเทศอุซเบกิสถาน ผ่านชายแดนเข้าประเทศคีร์ซกิสถาน อุซเบกิสถานเป็นประเทศที่ยาวพอ ๆ กับสวีเดน พูดถึงเราและบาเทคเพื่อนคนโปแลนด์เป็นส่วนน้อยที่ปั่นจากชายแดนด้านตะวันตกตัดมาถึงชายแดนด้านตะวันออกผ่านเขต “เฟอร์กานา วัลเล่” ซึ่งเป็นเขตทีี่มีเรื่องการเมืองกระทบกระทั่งกันบ่อยเพราะเป็นเขตติดชายแดน เหมือนภาคใต้บ้านเรา และด้วยระยะทางทั้งหมดประมาณ 2000 กม. เราใช้เวลาปั่น 18 วัน (นับเองยังตกใจ เท่ากับเราปั่นกันวันละร้อยนิด ๆ) และพักอีก 10 วัน รวม 28 วันที่อยู่ในประเทศอุซเบกฯ นานพอ ๆ กับตอนที่ปั่นในตุรกีเลย เรื่องปั่นไม่ใช่ปัญหาใหญ่สำหรับเราถึงแม้ว่าจะร้อนขนาดไหน แต่เรื่องที่เราต้องหาโรงแรมเพื่อลงทะเบียนทุก ๆ 3 วันนี่สิ ทำให้เรารู้สึกตึงเครียด เพราะระยะทางตั้งแต่ชายแดนระหว่างคาซัคสถานและอุซเบกิสถาน เราต้องปั่นผ่านทะเลทรายประมาณ 500 กม. ปั่นภายใน 3 วัน กว่าจะถึงเมืองที่มีโรงแรมและที่มีใบอนุญาติลงทะเบียนให้กับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติได้ และอีกหลาย ๆ ครั้งที่เราต้องคอยเช็คและถามคนท้องถิ่นตลอดเวลาว่าเมืองนั้น ๆ มีโรงแรมมั้ย? ลงทะเบียนได้มั้ย? นี่คือเหตุผลหลักที่ทำให้เราไม่รู้สึกผ่อนคลายกับการเดินทาง และอีกอย่างคือตำรวจและทหารที่นี่ขึ้นชื่อว่าคอร์รัปชั่นมาก ๆ ก็เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้เราเป็นกังวลเวลาปั่นผ่านด่านตรวจ แต่เราก็ยังไม่เคยเจอตำรวจที่ไม่น่ารักนะ มีแค่ครั้งหนึ่งที่ต้องผ่านด่านของทหารในเขตเฟอร์กานา วัลเล่ มีทหารนายหนึ่งเห็นถุงมือปั่นจักรยานของเวช เขาทำท่าเหมือนขอดู แต่ดันจะลองใส่ จะบ้ารึ? มือเราเล็กนิดเดียว (ถ้าเปรียบเทียบกับมือเขา) ส่วนมือเจ้าทหารนั่นใหญ่อย่างกับใบลาน ตอนนั้นไม่สนละว่าใครเป็นใคร ดึงถุงมือกลับมาเลย นายนั่นยังบอกให้เราไปกินข้าวกันก่อนแล้วปั่นกลับมากางเต้นท์นอนแถวด่านก็ได้ เพราะเขามีสนามหญ้า เชอะ!! จ้างให้ก็ไม่กลับไปหรอก ไหนจะต้องปั่นย้อน แถมขึ้นเขาอีก และเราไม่คิดว่าที่นั่นจะปลอดภัยมากกว่าร้านน้ำชาร้านอาหารข้างทางได้หรอก!!! ถ้าถึงขนาดเอาถุงมืออันเล็กนิดเดียวไปลองใส่มีหวังได้ขอโน่นขอนี่ขอลองปั่นจักรยานของโจคิมแน่ถ้าเรากลับไป ทั้งทริปในอุซเบกฯ ก็มีแค่นายคนนี้แหละที่ทำให้เรารู้สึกไม่ค่อยดี
เวชคิดว่าเหตุการณ์เหล่านี้ สภาพอากาศและความตึงเครียดที่ทำให้เราฟิวส์ขาด พอหลังจากที่เราปั่นข้ามทะเลทรายที่คาซัคฯ 500 กว่าโล ปั่นกัน 5 วันครึ่ง ต่อด้วยทะเลทรายที่อุซเบกฯ เกือบ 500 โลปั่นกัน 3 วันเต็ม ๆ วันแรก 120 โล วันที่สอง 190 โล วันที่สาม 150 โล ที่ต้องปั่นภายใน 3 วันก็เพราะเรื่องลงทะเบียนอย่างที่เล่าให้ฟังข้างต้น ที่คาซัคฯเขาไม่เข้มงวดเท่าที่อุซเบกฯ หลังจากนั้นระยะทางที่ปั่นไปคีวา บูคารา ซาร์มาคัน ก็มีทะเลทรายมาคั่นรายการตามทางประมาณ 20-30 กม. เตือนความทรงจำบ่อย ๆ แต่เท่าที่ปั่นในทะเลทราย มีแต่ความร้อนเท่านั้นที่เตือนว่าเราปั่นอยู่ในทะเลทราย แต่สภาพแวดล้อมยังไม่ใช่ทะเลทรายอย่างที่เคยจินตนาการ อยากเห็นทะเลทรายที่มีแต่ทราย แต่เท่าที่ผ่านมาจะเห็นพุ่มไม้ ต้นไม้เตี้ย ๆ หวังว่าคงได้เห็นที่จีน
![เป็นทะเลทรายผสมมีพุ่มไม้เล็ก ๆ คือยังไม่ใช่ทะเลทราย 100% มีแต่ความร้อนที่ทำให้รู้ว่ายังงัยมันก็คือทะเลทราย](http://cyclinghome.nu/wp-content/uploads/2013/08/DSC08205.jpg)
เป็นทะเลทรายผสมมีพุ่มไม้เล็ก ๆ คือยังไม่ใช่ทะเลทราย 100% มีแต่ความร้อนที่ทำให้รู้ว่ายังงัยมันก็คือทะเลทราย
มาถึงคีวาเรายังมีสภาพที่ค่อนข้างโอเค พักตามที่เราเคยวางแผน ปั่นออกมาจากคีวาไปบูคารา มีทะเลทรายแซม ๆ บ้าง ร้อนสุด ๆ เพื่อนคนนิวซีแลนด์ไม่ไหวต้องโบกรถ ส่วนเราก็พยายามปั่นกันมาให้ถึงภายใน 3 วัน ที่บูคารานี่เอง เราเริ่มมีอาการหมดเรี่ยวหมดแรง ตั้งใจว่าจะพัก 3 วันแต่กลายเป็น 4 วันเพราะโจคิมเริ่มมีอาการเจ็บที่กล้ามเนื้อ เขาเคยมีอาการอย่างนี้มาก่อนเมื่อตอนที่เรามาถึงบูคาเรสต์ แต่พอเริ่มปั่นอาการนั้นก็หายไป แต่วันนี้ที่บูคารา เราลองปั่นออกไปเผื่อว่าอาการจะหายไป อ่า…เปล่าค่ะ ยังเจ็บและเจ็บแบบต่อเนื่อง เราเลยปั่นกลับมาที่เกสต์เฮาส์ขออยู่ต่ออีกเพื่อดูอาการ และติดต่อกับเพื่อนทั้งสองคน สองคนนั้นแหละที่เคยเมลย์ไปถามเขาตอนที่เวชเจ็บหัวเข่า มีเพื่อนเป็นหมอก็ดีเช่นนี้แล สอบถามโดยตรงได้ 😉 ทั้งสองคนบอกให้พักผ่อน คาดว่ากล้ามเนื้อถูกใช้งานหนักไปหน่อย กินยาและเอาผ้าพันไว้คืนหนึ่ง ได้ผลนะ วันรุ่งขึ้นอาการดีขึ้นเยอะ แต่ยังรู้สึกตึง ๆ ที่กล้ามเนื้อส่วนนั้น เราพยายามจอดเพื่อยืดกล้ามเนื้อเหมือนคราวที่เวชเจ็บเข่า ครั้งนี้ก็เหมือนกัน แล้วเราก็สามารถดิ้นรนปั่นต้านลม ขึ้นเนิน สมบุกสมบันกับถนนที่แย่ ๆ เป็น 10 โล จนมาถึงซาร์มาคัน และที่ซาร์มาคันเราจะพักกัน 3 วัน แต่กลายเป็น 5 วัน เพราะเช้าวันที่จะออกเดินทางต่อท้องไส้โจคิมเริ่มปั่นป่วน เอ..ชักไม่ดี ส่วนเวชไม่รู้เป็นอะไร พอได้หยุดทีไรจะรู้สึกตัวบวม ๆ โดยเฉพาะขาและเท้า มันบวมเป่งเลยแหละ รู้สึกแน่น ๆ เหมือนมีใครมาเป่าลมเข้าไปที่เท้า นี่น่าจะเป็นสัญญาณเตือนเรา ว่าร่างกายเราเริ่มไม่ไหวอยากพักผ่อนมากขึ้นหรือเปล่า? แต่เรายังไม่สามารถพักนานได้ เพราะเรื่องวีซ่าที่เรามีเวลาจำกัดและไม่สามารถต่ออายุได้ จึงเปลี่ยนแผนการเดินทางใหม่ โดยค่อย ๆ ปั่นไม่รีบร้อน ออกกันเช้าหน่อย พักตอนที่ร้อนจัด ๆ และช่วงนี้คือเราเริ่มปั่นกันเองสองคน เพราะฉนั้นเราไม่ต้องคอยนัดกับใครหรือรอใครหรือตามใจใคร กลุ่มเราเริ่มแยกกันไปที่ซาร์มาคันนั่นเอง ทุกคนจะเดินทางต่อไปประเทศทาจิกิสถาน พาร์มีไฮเวย์ มีแต่บาเทคคนโปแลนด์ที่ปั่นล่วงหน้าไปก่อนเรา
จิสสัค (Jizzakh)
กว่าเราจะร่ำลากับเพื่อน ๆ ที่ปั่นกันมานานกว่า 6-7 อาทิตย์ รู้สึกเหมือนเป็นครอบครัวเดียวกัน ช่วยเหลือกันช่วงที่ปั่นข้ามทะเลทราย เศร้านิด ๆ มีพบก็ต้องมีจาก เราติดต่อกันทางเมลย์เวลาที่ใครมีข้อมูลใหม่หรือเจอะเจอกับเพื่อนที่แยกย้ายกันไปก่อนหน้านี้ก็จะส่งข่าวบอกกัน และหวังว่าสักวันหนึ่งเราคงจะมาพบปะกันหลังจากจบทริป คงจำกันไม่ได้ถ้าไม่ได้ใส่ชุดสำหรับปั่นจักรยาน เพราะเสื้อผ้าที่เราปั่นนั้น ไม่ค่อยมีให้เปลี่ยนบ่อยนัก
เกือบจะ 11 โมงก็ได้เวลาออกจากเกสต์เฮาส์ แดดเริ่มร้อน ลมเริ่มแรง ดีที่แรงโจคิมกลับมาเหมือนเดิม เลยปล่อยให้ลากไป เพราะลมพัดแซกหน้ามาเลย เราค่อย ๆ ปั่นไปเรื่อย ๆ ปั่นมาได้แค่ 8 กม.แวะกินข้าวเที่ยง ยืดกล้ามเนื้อและดื่มน้ำ เวลาเราจอดเข้าไปที่ร้านซื้อน้ำสั่งอาหาร เราจะกลายเป็นตัวประหลาดไปทันที แล้วอีกสักพักคนก็กรูกันเข้ามา ถามคำถามเดิม ๆ ที่เราได้ยินมาตั้งแต่เข้าคาซัคสถานเลยว่า มาจากไหน จะไปไหน???? จากที่ไม่เข้าใจคำถาม จนเดากันออกว่าเขาหมายถึงอะไร 😉
![คนตรงกลางคือแม่ค้า วัยรุ่นนะมี give me five ด้วยอ่ะ อายุน้อยกว่าเวช 2 ปีคนที่นี่เขาชอบถามเรื่องอายุกัน](http://cyclinghome.nu/wp-content/uploads/2013/08/DSC08524.jpg)
คนตรงกลางคือแม่ค้า วัยรุ่นนะมี give me five ด้วยอ่ะ อายุน้อยกว่าเวช 2 ปีคนที่นี่เขาชอบถามเรื่องอายุกัน
มีช่วงหนึ่งที่เรากำลังปั่นขึ้นเนินที่ลาดขึ้นอย่างสม่ำเสมอ เห็นรถคันหนึ่งจอดอยู่ข้างทาง ทักทายกันโดยที่เราไม่หยุดจอด สักพักรถคันเดิมขับมาชลอข้าง ๆ เรา เมินเขามาทีนึงละเลยคุยกับเขาเสียหน่อย เนินนั้นก็ยังลาดขึ้นอย่างต่อเนื่อง คุยไปคุยมา ข้าพเจ้าเริ่มเหนื่อยนะเว้ย เลยเงียบไป เขาคงรู้เลยยื่นผลไม้มาให้ มือเดียวเลยรับมาได้ 2 ลูก แต่ 2 ลูกนี้ก็เพิ่มพลังให้เราปั่นไปได้อีกหน่อย
อีกครั้งหนึ่งที่ประทับใจมาก คือรถตู้ขับความเร็วปกติ แล้วมาชลอข้างเรา เขาไม่ได้ถามอะไรเลย แต่มีมือยื่นไอติมออกมา 2 ถ้วย เราปฏิเสธ ไม่อยากหยุดเพราะเริ่มมองหาที่พักกัน เขาตะโกนกลับมาว่านี่ซื้อมาให้ (เดาเอา) จ้า..ขอบคุณค่ะ พอเรารับไอติมมาแล้ว ก็เห็นว่ารถตู้กลับรถและขับกลับไป โห..นี่เขาตั้งใจซื้อไอติมมาให้เราโดยเฉพาะจริง ๆ หรือนี่ เหตุการณ์นี้ยังไม่เคยเกิดขึ้นที่ตุรกี ทั้ง ๆ ที่คิดว่าคนตุรกีน่ารักสุด ๆ แล้วนะ เราชอบเวลาที่คนอุซเบกฯ ทักทายเราจากรถใหญ่รถตู้ โอเค..เขากดแตรเหมือนประเทศอื่น ๆ แต่การแสดงออกของเขามันทำให้เราสดชื่นและมีกำลังใจ เพราะหลังจากที่เขากดแตร เขาจะยกนิ้วให้ โบกมือให้ หรือไม่ก็เอามือประสานกันแล้วยกขึ้นเหนือหัวและยิ้มกว้าง ๆ ไปด้วย
เราเช็คแผนที่ในกูเกิ้ลมันบอกให้เราตรงขึ้นเขาไปเมืองจิสสัค แต่พอเราไปถึงตรงจุดนั้น เห็นป้ายบอกให้เลี้ยวขวาลอดใต้สะพานทางหลวงไปจิสสัค ว้าว..ดีใจ เพราะทางเขานั่นชันเชียวแหละ พอเลี้ยวเข้าเส้นทางไปจิสสัควิวเริ่มมีการเปลี่ยนแปลง เรียบแม่น้ำ มีภูเขาสองข้างทาง เราปั่นเข้าเมือง ปั่นเพลินเข้าผิดเส้นทางเลยหาโรงแรมที่นักปั่นชาวสวิสฯ เคยบอกให้มาพักไม่เจอ เราเข้ามาลึกไปหน่อย เลยมาเจออีกโรงแรมหนึ่ง ระดับ 3 ดาวในเมืองเล็ก ราคาแพงกว่านิดหน่อย ยิ่งพอมาเห็นห้อง ยิ่งรู้สึกพอใจ คุ้มจริง ๆ มีห้องน้ำที่ไม่เปียก น้ำไหลตามปกติ กระดาษทิชชู่นุ่ม ๆ มีสบู่ยาสระผมให้ แถมมีทีวีที่มีช่องภาษาอังกฤษด้วย วันนั้นเราเลยได้ฟังรายงานข่าวเกี่ยวกับ ”สโนเดน” ที่ออกมาแฉความลับของเมกา ขณะที่เขียนอยู่ยังคงติดค้างอยู่ในสนามบินที่รัสเซีย รายงานซ้ำไปซ้ำมา ปิดไปดีกว่า
ยางกิเยอ (Yangiyer)
กินอาหารเช้าที่โรงแรมเสร็จเราก็ออกเดินทางต่อ ใช้เวลาอยู่เหมือนกันนะในการหาทางเข้า-ออกแต่ละเมือง หาทางถามทางกันมาเรื่อย ปั่นมาเจอตลาดศูนย์รวมทุกอย่างละมั้ง ถ้าไม่ติดอะไรไม่เคยคิดว่าจะจอดในสถานที่ที่มีคนพลุกพล่านเยอะแยะ ไม่ใช่ว่ากลัวอะไร แต่รู้ว่าหยุดเมื่อไหร่ ชาวบ้านก็จะเข้ามาทีละคนสองคนสามคน จนกระทั่งเราอยู่ในวงล้อมพวกเขา
![”อุชเบกฯมุง” มุงคนประหลาด การปั่นจักรยานเป็นการเดินทางที่ค่อนข้างซอกแซก เราใช้เส้นทางเล็ก ๆ รอง ๆ ลงมา ทำให้เข้าถึงคนท้องถิ่นได้ง่าย](http://cyclinghome.nu/wp-content/uploads/2013/08/GOPR0829.jpg)
”อุชเบกฯมุง” มุงคนประหลาด การปั่นจักรยานเป็นการเดินทางที่ค่อนข้างซอกแซก เราใช้เส้นทางเล็ก ๆ รอง ๆ ลงมา ทำให้เข้าถึงคนท้องถิ่นได้ง่าย
![ตรงนี้จำเป็นต้องหยุดเพื่อแลกเงิน ที่อุซเบกฯ นี่ถ้าเอาเงินไปแลกที่แบงค์จะได้น้อยกว่าที่ตลาดมืดตั้ง 30% เลยลองแวะเข้าไปถาม แลกไป 50 ดอลลาร์ ได้มา 135000 ซอม](http://cyclinghome.nu/wp-content/uploads/2013/08/GOPR0850.jpg)
ตรงนี้จำเป็นต้องหยุดเพื่อแลกเงิน ที่อุซเบกฯ นี่ถ้าเอาเงินไปแลกที่แบงค์จะได้น้อยกว่าที่ตลาดมืดตั้ง 30% เลยลองแวะเข้าไปถาม แลกไป 50 ดอลลาร์ ได้มา 135000 ซอม
ดูจากแผนที่ที่เราเช็คมา ปั่นบนทางหลวงน่าจะไวกว่าและถนนน่าจะดีกว่าถนนเส้นรอง พอเราเห็นป้ายให้เลี้ยวขวาไปเมืองกุลลิสตัน (Guliston) ที่เราตั้งใจไว้ อ้าว..เห็นป้ายบอกทางให้เลี้ยวเราก็เลี้ยวสิ แต่พอเลี้ยวปุ๊บ รู้สึกไม่แน่ใจขึ้นมาทันที ลองถามคนเขาก็บอกว่าใช่ อ้าว..ใช่ก็ไปต่อ ปั่นต่อมาก็เห็นป้ายบอกให้เลี้ยวซ้าย เลี้ยวปุ๊บถนนเริ่มแย่แต่ก็แค่ช่วงสั้น ๆ เราพลาดเลี้ยวซ้ายสุดท้าย เลยไปไม่ถึงเมืองกุลลิสตันที่ตั้งใจไว้ อ้อมไปเมืองยางกิเยอแทน 50 กว่าโล หงุดหงิด เพราะเราเคยคุยกันว่าถ้ามีเวลาเราอาจจะปั่นเลยเมืองกุลลิสตันไปเพื่อให้ได้ระยะทาง ช่วงนี้เราต้องเร่งนิดหน่อยเพราะเหลืออีกแค่ 7 วันก่อนที่วีซ่าจะหมดอายุ เราไม่อยากจะไปอยู่ที่ชายแดนระหว่างอุซเบกิสถานและคีร์ซกิสถานในวันที่มันหมดอายุพอดี เผื่อไว้หน่อย เกิดเหตุขัดข้องจะได้มีเวลาเหลือ
พอปั่นออกมาจากถนนเส้นรองจะเข้าถนนใหญ่ เราเห็นรถยนต์จอดอยู่ข้างทางเลยคิดว่าไปถามดูหน่อยว่าอีกกี่กิโลถึงเมืองกุลลิสตัน เพราะถ้าไม่ไกลมาก เราอาจจะฮึดขึ้นมาแล้วปั่นต่อไปอีกหน่อย แต่พอเข้าไปใกล้อีกหน่อย ปรากฎว่าที่เบาะหลังรถ เห็นผู้หญิงกำลังก้มหน้าก้มตาจุ๊บ ๆ กับผู้ชายที่เธอนั่งอยู่บนตัก อ้าว..เวรกรรม ท่าจะไม่ดี ไม่อยากไปเป็นก้างขวางคอเขา เลยปั่นต่อไป นี่ถ้าไม่เริ่มเย็นจะไปนั่งแอบดูอยู่อีกฝั่งหนึ่ง เรามีกล้องส่องทางไกลมาด้วยนิ มีประโยชน์ก็ตอนนี้ เฮ้อ..แต่ก็ไม่ได้ใช้อยู่ดี อิอิ ปั่นต่อไปขึ้นสะพานแยกเข้าถนนใหญ่ เห็นมีอีกคันหนึ่งแต่คันนี้จอดลึกเข้าไปจากข้างทางหน่อย ทำให้ไม่สามารถมองเห็นได้ว่าในรถนั้นมีกิจกรรมเหมือนกับคนแรกหรือเปล่า ไม่รู้ว่าเป็นหนุ่มสาวที่ไม่สามารถหาที่ที่เป็นส่วนตัวได้หรือแอบใครที่บ้านมามีอะไรกับใครคนอื่น!!! แหม…เกือบได้ดูหนังสดสะแล้ว
ปั่นมาเจอด่านตำรวจ ทักทายกันพยายามเป็นมิตรกับเขาหน่อย ถามเขาเรื่องโรงแรม ตำรวจว่าปั่นไปอีก 3 กม.เลี้ยวขวาก็ถึง โอเค.. 3 โลก็ไม่ไกลเท่าไหร่ ปั่นไปตามที่เขาบอก ไม่เห็นมีโรงแรม ถามที่ร้านอาหารตรงหัวมุม เขาพูดภาษาอังกฤษได้และบอกว่าปั่นไปอีกหน่อย เฮ้อ..หลายหน่อยแล้วนะ ชักหงุหงิ ต้องปั่นไปอีกตั้งหลายโลกว่าจะถึง แถมหายากอีก เฮ่อ..กว่าจะถึง เวชเข้าไปคุยกับเจ้าของ เขาว่าคนละ 10 ดอลลาร์ พอเราอาบน้ำแต่งตัวเสร็จจะออกไปกินข้าว เด็กที่ร้านอาหารที่เราถามทาง เขามารับเราไปกินข้าวร้านเขา แต่โดนเจ้าของที่พักไล่ตะเพิดไป เราก็ไม่รู้ว่าเขาคุยอะไรกัน เหนื่อยก็เหนื่อย ไม่อยากยุ่งด้วย เจ้าของที่พักเขากลับมาบอกเราว่าให้เราอยู่ฟรีแต่ต้องไปกินอาหารที่ร้านเขา โอเค ๆ ไม่มีปัญหา เราก็ขี้เกียจเดินไกลอยู่แล้ว ตกลงเราจ่ายค่าอาหารแค่ 10 ดอลลาร์ลดไปครึ่งหนึ่ง ค่อนข้างแพงแต่ถ้าไม่ต้องจ่ายค่าห้องก็โอเค ดีเหมือนกัน เจ้าของที่พักนี่เขามีญาติที่ย้ายไปอยู่ที่อิสราเอล โชคดีของเราที่ตอนนั้นเขาอยู่ด้วยพูดภาษาอังกฤษได้คล่องมาก เขาช่วยเราสั่งอาหาร เพราะเมนูเป็นภาษารัสเซีย แต่อาหารของอุซเบกฯ ไม่ค่อยมีอะไรมาก หลัก ๆ คือ skrewer ชัสลิค คือเนื้อหมู เนื้อวัว ไก่เอามาเสียบเหล็กแล้วย่าง อีกจานคือ Lagman รัคมาน คล้าย ๆ ข้าวซอยบ้านเรา จานยอดนิยมอีกจานคือซอมซ่า Comsa คือกะหรี่ปั๊บบ้านเราแต่เอาไปอบแทน
![โรงแรมโรซ่ามีอยู่ 4 ห้องแชร์ห้องน้ำ เราต้องยกจักรยานขึ้นไปตามบันไดนี่และอีกช่วงหนึ่ง เวลาพักตามโรงแรมจะเบื่อก็ตอนนี้แหละที่ต้องแบกทุกอย่างไปที่ห้อง](http://cyclinghome.nu/wp-content/uploads/2013/07/DSC08551.jpg)
โรงแรมโรซ่ามีอยู่ 4 ห้องแชร์ห้องน้ำ เราต้องยกจักรยานขึ้นไปตามบันไดนี่และอีกช่วงหนึ่ง เวลาพักตามโรงแรมจะเบื่อก็ตอนนี้แหละที่ต้องแบกทุกอย่างไปที่ห้อง
โอมาลึค (Olmaliq)
เรากินขนมปังและครีมช๊อคโกแลตรองท้องก่อน คิดว่าจะไปกินที่ตลาด แต่มันอยู่อีกฝั่งหนึ่ง ขี้เกียจข้ามถนน กว้างด้วย เลยปั่นเลยไปจนมาเจอร้านขายของข้างทางริมทางรถไฟ เหมือนเมืองไทยเลย กินเสร็จเขาเอาไอติมมาให้กินฟรีอีก น่ารักจริง ๆ
วันนี้ร้อนมาก เส้นทางระหว่างยางกิเยอและโอมาลึคไม่ค่อยมีผู้คนอาศัยสักเท่าไหร่ ปั่นมาเรื่อย ๆ กำลังจะหมดหวังก็มาเจอร้านข้างถนนนี่ ที่เขาทำไอรันขาย (ไอรันคือส่วนผสมของโยเกิร์ตครึ่งหนึ่งและน้ำครึ่งหนึ่ง ใส่เกลือนิดหน่อย ที่อุซเบกฯ บางทีเขาใส่เครื่องเทศเช่น ดิล กลิ่นฉุน ๆ) และที่ตรงนั้นมีน้ำไหลมาจากภูเขาด้วยเลยพักกัน มีคนเดินทางผ่านแวะล้างหน้าล้างตากันที่แหล่งน้ำนี่ บ้างก็ซื้อนมเปรี้ยวที่เขาทำกันเองและเอามาวางขาย เราก็ฉวยโอกาสนี้ซักถุงมือถุงแขน เวลาที่ผ้าพวกนี้เปียก ปั่น ๆ ไปจะช่วยคลายร้อนได้ แต่มันแห้งเร็วมากเลยช่วงนี้
ปั่นมาถึงเมืองโอมาลึค (Olmaliq) เป็นเมืองอุตสาหกรรมที่่ค่อนข้างใหญ่ มีกองของเสียจากโรงงานเป็นภูเขาเลย กว่าจะเข้ามาถึงใจกลางเมือง พอหาโรงแรมเจอก็แพง มีคนแนะนำไปอีกรร.นึง แต่ยิ่งแพงเข้าไปอีก เราเริ่มเหนื่อยและอยากพักเต็มที แพงก็แพง เราจ่ายไปคนละ 60000 ซอม 2 คนเป็น 120000 ซอม จ่ายขนาดนี้แต่ขอโทษในห้องน้ำไม่มีอะไรให้เลย หงุดหงิด ในห้องก็ไม่มีเน็ต ต้องลงไปที่ล๊อบบี้ อาหารเช้าก็ไม่มี วัยรุ่นเซ็งและหงุดหงิดมากมาย
อันเกรียน (Angren)
หนทางสู่เมืองนี้ไม่ง่ายเหมือนที่ผ่าน ๆ มา อากาศร้อนแน่นอน แต่มีทางชันที่เข้ามาเพิ่มรสชาติความลำบาก ช่วงเช้ายังมีเมฆมาบังแดดให้ แต่พอสายหน่อย ลมไม่มีแต่เมฆสามารถเคลื่อนที่หายไป หรือมันละลายไปใต้แสงอาทิตย์ ปั่นขึ้นเขาแดดเปรี้ยง ๆ ไม่มีลม หง่า…แทบ (อยาก) จะเป็นลม (เสียเอง) 😉 และก่อนที่ลมจะหมด ขอพักเติมพลังสักหน่อย ด้วยข้าวซอยแบบฉบับอุซเบกฯ มันเหมือนมาก เขาเรียกมันว่า รัคมาน (Lagman) เป็นอาหารที่เรากินบ่อยแต่จานนี้เป็นจานแรกที่เรารู้สึกว่ามันอร่อยที่สุดแถมเสริฟพร้อมพริกที่ไม่เคยเห็นที่ไหนมาก่อน อาจจะเป็นตำหรับเฉพาะของท้องถิ่นนี้
จากที่เราพักกิน ”ข้าวซอย” กันพักผ่อนรอแดดร่มออกเดินทางต่อประมาณสี่โมงเย็น ทางยังคงลาดขึ้นนิด ๆ อีกประมาณ 30 กม.เราจะต้องปั่นข้ามเขาลูกหนึ่ง ซึ่งความสูง 2206 เมตร
ชมวิวระหว่างทางจากเมืองอันเกรียนไปเมืองโคคันที่มีขุนเขาล้อมรอบ ช่วงนี้เราเริ่มเข้าเขตเฟอร์กานาวัลเล่
![ขึ้นก็ใช้กำลังไปมาก ขาลงนี่สนุกมาก แซงรถใหญ่ ๆ มาตั้งหลายคัน หลังจากที่เขาแซงเราตอนขาขึ้น แวะกินอะไรก่อนเสียหน่อย บรรยากาศในร้านอาหาร แถบเอเชียกลางชอบนั่งกันแบบนี้](http://cyclinghome.nu/wp-content/uploads/2013/08/DSC08710.jpg)
ขึ้นก็ใช้กำลังไปมาก ขาลงนี่สนุกมาก แซงรถใหญ่ ๆ มาตั้งหลายคัน หลังจากที่เขาแซงเราตอนขาขึ้น แวะกินอะไรก่อนเสียหน่อย บรรยากาศในร้านอาหาร แถบเอเชียกลางชอบนั่งกันแบบนี้
ลงจากเขามาก็เข้าเมืองโคคัน บางครั้งมีความรู้สึกว่าเราเข้าเมืองแต่เราไม่มีแรงที่จะออกไปดูอะไรในเมือง เพราะกว่าจะเช็คอิน เอากระเป๋าขึ้นห้อง พักผ่อน อาบน้ำ พอพร้อมที่จะออกไปข้างนอกหาอะไรกินกันก็ค่ำ ทุกอย่างปิดหมดแล้ว ยังดีที่ร้านอาหารไม่ปิดเร็ว มันน่าจะกลับกันนะ ว่าร้านอาหารปิดเร็ว ส่วนสถานที่ท่องเที่ยวปิดดึก 😉 ทีนี้ก็อดทั้งสองอย่าง 🙂
หลังจากที่เราเช็คอินแล้ว เด็กที่เคาน์เตอร์บอกเราว่าวันรุ่งขึ้นเราจะได้สลิปลงทะเบียนจากโรงแรม ได้!! แต่ 7 โมงเช้านะ ห้ามสายกว่านี้ ไม่อย่างนั้นเราลำบากเพราะอากาศเริ่มร้อน พอเราลงมา 7 โมงเป๊ะ โน..ไม่มีสลิป ไม่มีตราประทับเพราะเจ้าของเอาเก็บล๊อคไว้ในตู้ เด็กคนเดิมบอกว่า ”ขอโทษ..ผมลืม” ได้ให้อภัย แต่จัดการเร็วหน่อย เอ..มันไม่เกิดอะไรขึ้นเลยนะ นี่คืออาการที่หลังจากถูกรัสเซียควบคุม เป็นคอมมิวนิสต์มานาน การให้บริการเป็นอะไรที่ใหม่สำหรับเขา จากที่พูดกับเขาเย็น ๆ เนิบ ๆ จนเริ่มทนไม่ไหว ต้องขึ้นเสียง นั่นแหละถึงจะเห็นความแตกต่าง เริ่มวิ่ง นี่ถ้าไอ่สลิปนี่ไม่จำเป็น เราไม่รอเด็ดขาด เสียเวลาไปตั้งชั่วโมงเศษ เราต้องปั่นประมาณ 120 กม.กว่าจะถึงชายแดน ฮึ่ม..อยากจะบีบคอทั้งไอ่เด็กคนนั้นและเจ้าของเลย เพราะท่าทางที่เขาเดินมาหาตราประทับนั่น ไม่แสดงอาการเร่งรีบใด ๆ เลย น่าบีบคอมั้ยล่ะ???
โมโหไปก็เท่านั้นแหละเนอะ เสียสุขภาพจิตเปล่า ๆ ข้าวเช้าก็ยังไม่ได้กินปั่นออกมาได้หน่อย พอรู้ว่าจะไปทางไหนแล้วก็เลยแวะกินชาและขนมปังกันก่อน
เม่ือคืนเราตัดสินใจปั่นเป็นเส้นตรงจากโคคันไปอดิจอน (Adijan) จะสั้นกว่าปั่นผ่านเมืองเฟอกาน่า ตั้งอยู่ทางใต้ของเส้นทางที่เราตัดตรง แต่ทางค่อนข้างน่าเบื่อเท่านั้นเอง ได้ยินมาว่าเมืองเฟอร์กานาสวย เวลาเราเหลือน้อยลง ต้องเก็บไว้โอกาสหน้า เราอยากกลับมาเที่ยวแถวนี้อีก เพราะชอบคนแถบนี้นะ รู้สึกว่าจะใจดีกว่าภูมิภาคอื่น วันนี้ทำควมเร็วได้ดีหน่อย เฉลี่ยประมาณ 23 กม./ชม. เส้นทางตรงสะไม่มี ปั่นจนง่วงตาจะปิดเลย
![เราเลือกที่จะปั่นตรง แทนที่จะปั่นผ่านเมืองเฟอร์กานาที่อยู่ด้านล่างเส้นทางที่เราเลือก เพราะต้องการประหยัดเวลาและพลังงาน ;-)](http://cyclinghome.nu/wp-content/uploads/2013/08/Skärmavbild-2013-08-01-kl.-11.01.49.png)
เราเลือกที่จะปั่นตรง แทนที่จะปั่นผ่านเมืองเฟอร์กานาที่อยู่ด้านล่างเส้นทางที่เราเลือก เพราะต้องการประหยัดเวลาและพลังงาน 😉
2-3 วันนี้ร้อนมาก เหงื่อแตกเหมือนเส้นแสดงแม่น้ำในแผนที่เลย ไหลเป็นทาง แถมไหลเข้าตาอีก อืม… ข้างเดียวยังพอทำเนา ถ้าทั้งสองข้างนี่ต้องจอดเลย แสบตา กระพริบยังงัยก็ไม่หายแสบ บางครั้งร้อนมาก ๆ จนขนลุก แปลก!!! มานึกเปรียบเทียบกับตอนที่ปั่นในพายุหิมะแถวฮังการี, โรมาเนียและบัลแกเลีย ที่หนาวจนนิ้วมือนิ้วเท้าชาไปหมด เคยรู้สึกว่าจมูกเต้นได้้ด้วย 🙂 เพราะชีพจรมาเต้นอยู่ตรงปลายจมูกนั้น รู้สึกแปลก ๆ ดี อยู่สวีเดนหนาว ๆ ยังไม่เคยลิ้มรสความรู้สึกนี้เลย
เราปั่นผ่านตลาดนัด น่าจะเป็นตลาดนัดแตงโม แคนตาลูปนะ เพราะเห็นรถแต่ละคันที่แซงเราไปมีแต่แตงโมเต็มรถเต็มหลังคาไปหมด มีรถตู้คันหนึ่งขับช้า ๆ คุยกับเรา บางคันเราพยายามบอกว่าเราไม่เข้าใจภาษา เขาก็พยายามอีกหน่อย แล้วก็บ๊ายบายกันไปแต่คันนี้พยายามอย่างเยอะ ส่วนใหญ่เราไม่จอดคุย เราจะปั่นไปคุยไป ไม่อย่างนั้นคงไปไม่ถึงไหนแน่ เพราะไม่ค่อยมีนักท่องเที่ยวมาที่นี่สักเท่าไหร่พวกเขาเลยตื่นเต้นเวลาเห็นพวกเรา ก็เพราะรัฐบาลเขานั่นแหละที่ทำเรื่องยุ่งยากเกี่ยวกับการลงทะเบียนเข้าพักตามโรงแรมทุก ๆ 3 วัน มิเช่นนั้นจะถูกปรับ ไม่แน่ใจว่าเท่าไหร่ แต่มากโขอยู่
เมื่อวันสุดท้ายที่อดิจอน เรายังได้ทำความรู้จักกับครอบครัวหนึ่งมีคุณปู่และหลานชายออกมาเดินเล่นตอนเย็นกัน เดินมาเจอเราตอนที่เราจะไปขอนอนค้างคืนที่ร้านอาหารข้างทาง เขาเข้ามานั่งคุย เจ้าเด็กน้อยอายุแค่ 12 ปีแต่พูดภาษาอังกฤษได้คล่อง เขาอยากฝึกพูดภาษาอังกฤษ เลยนั่งคุยอยู่กับเราจนดึกไม่ยอมกลับบ้าน จนเราไม่สามารถปกปิดความง่วงและเพลียได้ เขาเลยขอตัวกลับไป คุณปู่รู้จักกับเจ้าของร้านเป็นอย่างดี เราตั้งใจว่าจะขอนอนตรงที่เรานั่งกินอาหารนั่นแหละ แต่เจ้าของร้านชี้ไปที่ห้องส่วนตัวอีกมุมหนึ่งแล้วบอกให้คุณปู่พาไปดูห้องนอน ห้องน้ำ แกบอกว่าดูไม่น่าสะดวกนะ ไปนอนบ้านเขาดีกว่ามั้ย เราก็เกรงใจที่ร้าน ขอเขาไว้แล้วเลยไม่อยากจะเปลี่ยนที่ ถ้าอย่างนั้นพรุ่งนี้เช้าแกจะมาบอกลาเราตอน 7 โมงเช้า น่ารักจริง ๆ 7 โมงกว่า ๆ แกก็เดินมาแต่เจ้าเด็กน้อยตื่นไม่ไหว ชวนเราไปดื่มกาแฟที่บ้าน เราไม่ค่อยกล้าปฏิเสธ เพราะดูจากท่าทางที่แกถามเราดูแกก็เกรง ๆ ว่าเราจะไม่ไป วันนี้เราไม่รีบร้อน ไปเยี่ยมบ้านแกเสียหน่อย พอตอบตกลงปุ๊บหน้าตาแกเบิกบานอย่างเห็นได้ชัดเลย เกือบไปแล้ว เกือบทำให้คนแก่เสียใจ